วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2556

กรรมติดจรวด

คัดลอกจาก...หนังสือธรรมะ...ปาตี้ แฮปปี้..เถอะโยม
เขียนโดย...พระมหาสนอง  ปัจโจปการี

คำว่า "กรรม"  แปลว่า  "การกระทำ"  เป็นคำกลาง ๆ  ทำดีก็เรียกว่า "กุศลกรรม"  ทำไม่ดีก็เรียกว่า  "อกุศลกรรม"  หากเราทำอะไรลงไปด้วยกาย เรียกว่า "กายกรรม" ทำด้วยวาจา เรียกว่า "วจีกรรม"  และทำอะไรด้วยใจ เรียกว่า "มโนกรรม"  ด้วยเหตุนี้  คำว่า "กรรม"  จึงหมายถึง  "การกระทำด้วยความจริงใจ" ดังหลักฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า  "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม" จะเห็นได้ว่าในทางพระพุทธศาสนา ได้เน้นอยู่ที่เจตนา คือ ความตั้งใจจึงจะเป็นกรรม  ฉะนั้น ในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายจากโลกนี้ไป  จึงประกอบกรรมกันมากมายทั้งที่ดีบ้าง และไม่ดีบ้าง

คนเราเมื่อเกิดกิเลส  ต้องทำกรรมเพื่อสนองกิเลส  ผลคือวิบาก  (ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี)  ชีวิตของคนส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่อย่างนี้  เรียกว่า  "วัฏสงสาร"  คือ  การเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น  โดยหลักของพระพุทธศาสนา สอนไว้อย่างนี้

หากใครไม่อยากกลับเข้าสู่วังวนของการเวียนว่ายตายเกิด เห็นจะมีอยู่ทางเดียว นั่นก็คือ  การบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือได้เข้าถึงนิพพานอันสงบเย็นนั่นแหละ  จึงจะไม่กลับมาเกิดอีก ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพรากจากสิ่งที่รัก  ก็ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นอีก  ถามว่าจะมีสักกี่คน  ที่สามารถทำให้ตนหลุดจากวงจรนี้ไปได้  เอาง่าย ๆ  แค่เพียงคิดดี ทำความดีเหมือนดังพระพุทธเจ้าที่ว่า  "โลกนี้มืดมน น้อยคนนักจักเห็นแจ้ง น้อยคนนักจักไปสวรรค์ เหมือนนกติดตาข่ายนายพราน น้อยตัวนักจะหลุดรอดไปได้"

หลักกรรมในทางพระพุทธศาสนานั้น  เน้นในเรื่องของปัจจุบัน  พระพุทธเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนให้พิจารณาการกระทำของคนทั้งหลาย ทั้งส่วนที่ดีและที่ชั่ว  เพื่อชี้สิ่งที่จะต้องกระทำหรือการกระทำในปัจจุบัน ไม่ทรงแสดงให้บุคคลหวนคิดเรื่องในอดีตและฝันเพ้อถึงเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง  แต่ทรงสั่งสอนให้บุคคลใช้ปัญญาพิจารณาที่เป็นปัจจุบัน  ดังพุทธพจน์ที่ว่า

                                   "บุคคลไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
                                    ไม่คำนึงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง
                                    ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า
                                    เพราะเหตุนั้น  ผิวพรรณย่อมผ่องใส"

พระพุทธเจ้าค้านและไม่เห็นด้วยกับลัทธิถือโชคชะตา  พระพุทธศาสนาสอนให้คนช่วยตัวเอง  ไม่ให้งอมืองอเท้าปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตา  เหมือนพุทธภาษิตที่เคยได้ยินเป็นประจำว่า  "อัตตา  หิ  อัตตโน  นาโถ  โก  หิ  นาโถ  ปโร  สิยา... ตนแลเป็นที่พึ่งของตน  บุคคลอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้  เพราะว่าบุคคลเมื่อฝึกฝนดีแล้ว  ย่อมได้ที่พึ่งที่หาได้โดยยาก"   (พระไตรปฏก เล่ม ๑๘)

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพุทธรัสให้พระภิกษุมาประชุมกัน  แล้วจึงตรัสขึ้นในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ว่า  "ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย  ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร  ธรรมปริยายอันเป็นเหตุแห่งความกระเสือกกระสนเป็นอย่างไร"

                                 "ดูก่อนภิกษุ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย
                                 สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้มีกรรมเป็นของตนเอง
                                 เป็นผู้รับผลของกรรม
                                 เป็นผู้มีกรรมเป็นแดนเกิด
                                 เป็นผู้มีกรรมเป็นพวกพ้อง
                                 เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
                                 กระทำกรรมอันใดไว้  จะดีหรือชั่วก็ตาม
                                 ย่อมเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้น"

อาตมาขอเล่าเรื่องพฤติกรรมของชายคนหนึ่ง ที่คิดไม่ดีกับพ่อของตนเอง  แล้วมาดูกันว่า ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากการกระทำนั้นจะเป็นอย่างไร

มีครอบครัวหนึ่งฐานะอยู่ในเกณฑ์ดี  ครอบครัวนี้มี ๓ คน  คือ ปู่ พ่อและลูกชาย  ชื่อว่า "แจ็ค"  ระหว่างที่อยู่ด้วยกันนั้น เขาสังเกตว่า พ่อปฏิบัติกับปู่ไม่ค่อยดีเลย  ดูแลแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ต่อมา พ่อเห็นว่าปู่แก่มาก  เลยให้ปู่ไปอยู่ที่ห้องเก่าหลังบ้าน  ทุกวันพ่อจะให้แจ็คนำอาหารไปให้ปู่  ภาชนะที่ใส่อาหารไปให้ปู่ ที่พ่อใช้คือ "กะลา"  ทำให้แจ็ครู้สึกสลดใจมาก  แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร  วันหนึ่งเขาเก็บความสงสัยเอาไว้ไม่ไหว  จึงถามพ่อว่า

"บ้านหลังนี้ เป็นบ้านที่ปู่สร้างให้พ่อ ไม่ใช่เหรอครับ"

เจอคำถามจากลูกชาย พ่อถึงกับอึ้งไป แต่จำเป็นต้องตอบให้ลูกชายคลายสงัย
"เออ  ก็ปู่ของลูกแก่แล้วน่ะ  แล้วท่านชอบทำสกปรกเลอะเทอะ พ่อเลยต้องให้ปู่ไปอยู่ที่ห้องหลังบ้านนั่น"

ลูกชายชี้ไปที่กะลามะพร้าวที่พื้นนั่น แล้วถามพ่อต่อไปว่า
"แล้วทำไมพ่อต้องเอากะลามะพร้าวนั่นใสข้าวปลาอาหารให้ปู่ด้วยล่ะ"

พ่อตอบลูกชายแบบไม่เต็มเสียงเท่าไหร่นัก
"คือว่า...ปู่น่ะแก่แล้ว มือไม้สั่น ถือถ้วยชามกระเบื้องไม่มั่น อาจทำหล่นแตกได้น่ะลูก  พ่อเลยจำเป็นต้องหากะลามะพร้าวมาให้ปู่เอาไว้ใช้ ไม่อย่างนั้นก็แตกหมด"

คำตอบจากพ่อ วันนั้น ทำให้ฝังใจลูกชายอยู่ตลอดเวลา  กระทั่งวันหนึ่ง พ่อไปธุระข้างนอก  ปรากฏว่า ไปเห็นลูกชายกำลังนั่งทำอะไรบางอย่างอยู่  จึงถามลูกชายไปว่า
"กำลังทำอะไรอยู่เหรอลูก"

ลูกชายเงยหน้ามองพ่อ แล้วยิ้มตอบ
"เออ  ผมกำลังขัดกะลาอยู่น่ะครับพ่อ"

"อ้าว  แล้วไปเอากะลามาขัดทำไมล่ะลูกหรือของปู่แตกแล้ว"
พ่อถามลูกด้วยความสงสัย

ลูกชายยังก้มหน้าก้มตาขัดกะลามะพร้าวต่อไป  แต่ตอบพ่อว่า
"กะลาของปู่ยังไม่แตกหรอกพ่อ  แต่ผมขัดเตรียมไว้ให้พ่อ"

พ่อเสียงลั่นถามลูกชาย
"อ้าว เฮ้ย..นี่แกจะให้พ่อกินข้าวในกะลานี่น่ะเหรอ พ่อยังไม่แก่นะลูก"

"อ้าว แล้วพ่อคิดว่า พ่อจะเป็นหนุ่มอย่างนี้ตลอดไปหรือครับ  วันหนึ่งคุณพ่อก็จะต้องแก่เหมือนคุณปู่นั่นแหล่ะครับ  พอถึงวันนั้น ผมจะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งขัดกะลาาอีกงัยครับ ผมเลยเตรียมไว้ตั้งแต่วันนี้ดีกว่า"

คำตอบของลูกชาย  ทำเอาผู้เป็นพ่อถึงกับสะอึก พูดอะไรไม่ออก  เขาเริ่มคิดได้ จึงรีบไปนำพ่อขึ้นมาอยู่ในบ้านหลังใหญ่ และดูแลพ่อตัวเองเป็นอย่างดีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

นี่แหละคุณโยมใครที่คิดจะทำอะไรไม่ดีกับผู้บังเกิดเกล้า  ระวังกรรมจะตามสนอง ปัจจุบันนี้เขาเรียก  "กรรมติดจรวด"  เหมือนเรื่องราวที่เล่ามาแต่ต้น  กรรมบางอย่างไม่ต้องรอถึงชาติหน้าหรอก  เห็นทันกันในชาตินี้แหละ  อาตมามีความหวังลึก ๆ ว่า  หากคุณโยมได้อ่านเรื่องนี้ไปแล้ว  น่าจะพอเป็นเหตุกระตุ้นเตือนให้ใจคิดบ้าง  ว่าจะไม่ทำอะไรคล้าย ๆ  กับในเรื่องนั้น

พระพุทธเจ้าได้สอนเรื่องกรรมและผลของกรรมไว้อย่างชัดเจนมาก  แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ  คนเราไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรม  เพราะอะไรคุณโยมทราบไหม ไม่ว่าจะเพราะเหตุใดก็ตาม   สำหรับอาตมาคิดว่า คนที่ไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรม  กำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ  ความโกรธและความหลง  เมื่อสิ่งเหล่านี้เข้ามาครอบงำจิตใจ  จึงทำให้ใจหวั่นไหวและคล้อยตามไปด้วย  เพราะติดกับดัก  จะสลัดออกก็คงยาก  กลายเป็นที่มาแห่งความเห็นแก่ตัว  ไม่สนใจประโยชน์ส่วนรวม  หากคนเราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แล้วละเลยประโยชน์ส่วนรวม  สังคมจะเป็นเช่นไร  ท้ายที่สุดสังคนก็จะพังพินาศไป ดังคำกลอนบทหนึ่งที่ว่า

                                  มุ่งประโยชน์            ส่วนตัว                แต่คนเดียว
                                  ไม่แลเหลียว             ส่วนรวม             จะเสียหาย
                                  เมื่อส่วนใหญ่            ยับย่อย              พลอยวอดวาย
                                 ส่วนของตน               ก็สลาย               ไปด้วยกัน
                                 ละส่วนตน                 ไว้ก่อน                จึงย้อนกลับ
                                 เมื่อส่วนรวม             ได้รับ                   สมานฉันท์
                                 อานิสงส์                    ที่เกิด                  ได้ร่วมกัน
                                จะส่งผล                    ให้คนนั้น             สุขสันต์เอย

                                                     ........................................